Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา/่ท่องเที่ยวทะเล ไทยคึกคัก



อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยในท้องที่ ตำบลกระโสม ตำบลกะไหล ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลเกาะปันหยี อำเภอเมืองพังงา และ ตำบลเกาะยาวน้อย ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา มีอาณาเขตติดต่อกันดังนี้

ทิศเหนือ จดพื้นที่ป่าชายเลนในท้องที่ อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา

ทิศใต้ จดทะเลเขตอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และเขตทะเล จังหวัดภูเก็ต

ทิศตะวันออก จดเขตท้องที่จังหวัดกระบี่

ทิศตะวันตก จดพื้นที่ป่าชายเลน และที่ชายทะเล ท้องที่ อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา






ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานของดินแดนภาคใต้ฝั่ง ตะวันตก เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับแนวทิวเขาแกรนิต ที่เรียกว่า ทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาภูเก็ต อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-พม่า ที่ทอดยาวไปจนถึงจังหวัดพังงา-ภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีตาเชียสกับยุคเทอร์เชียรีตอนต้น อายุประมาณ 136-36 ล้านปีมาแล้ว ภูมิสัณฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้ ยังเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนพังงา การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหิน (รอยคดโค้ง-รอยเลื่อน) ของหินแกรนิต นำเอาแร่ธาตุที่มีค่ามาสะสมตกผลึก เช่น แร่ดีบุก ตะกั่ว วุลแฟรม เหล็ก พลวง แมงกานีส แบไรต์ ฟลูออไรต์ และทองคำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนซึ่งแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป ทั้งภูเขาหินปูนที่เป็นแนวเทือกเขาสลับซับซ้อนหรือภูเขาหินปูนลูกโดด และยังปรากฏว่ามี ซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) อีกการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรงหรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด กระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นท้องทะเล พื้นทะเลเป็นดินเลน โคลน และทราย เป็นส่วนใหญ่ มีภูเขาหินปูน โผล่อยู่กลางน้ำ กระจายทั่วบริเวณอ่าวพังงา มีลักษณะสวยงาม โดดเด่น รูปร่างแปลกๆ มากมาย ประกอบไปด้วย เกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า ฯลฯ ซึ่งแต่ละเกาะก็จะมีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกันไปและมีความ สวยงามเฉพาะตัว

ลักษณะภูมิอากาศ

เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นฝั่งทะเลเปิด จึงได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ทะเลมีคลื่นลมจัด ฝั่งทะเลช่วงใดที่ไม่มีเกาะกำบังจึงกลายเป็นฝั่งซึ่งมีหาดทรายชันและน้ำลึกในระยะใกล้ฝั่ง ส่วนฝั่งทะเลช่วงที่มีเกาะกำบังลมด้านนอก หรือฝั่งตอนที่เป็นอ่าวเว้าไม่รับลมมรสุมเต็มที่ จะมีลักษณะเป็นบริเวณที่พื้นดินอ่อนเป็นโคลนเลน มีป่าชายเลนขึ้นหนาแน่นตามขอบฝั่งและเลยลึกเข้าไปในฝั่งที่น้ำเค็มเข้าไปถึง ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดบริเวณอ่าวพังงา จังหวัดพังงา นี้เอง










พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

พืชพรรณ

สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

ป่าชายเลน

ป่าชายเลนบริเวณเขาหินปูนพบว่า มีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลนมากถึง 12 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบ ต้นจาก ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำ หรือที่ค่อนข้างเป็นดินเลนเป็นจำนวนมาก และเหงือกปลาหมอ ส่วนปรงทะเล พบน้อยมากบริเวณที่โล่ง หรือบริเวณที่ป่าถูกทำลายเท่านั้น

ป่าชายเลนบริเวณเขาหินเซลล์และควอทไซท์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ พบ 7 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว เป็นต้น สำหรับพันธุ์ไม้พื้นล่างอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เหงือกปลาหมอ ซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น

ป่าชายเลนบริเวณเขาหินทราย ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในบริเวณนี้มีน้อยมาก ทั้งนี้เนื่อง จากบริเวณนี้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ พันธุ์ไม้สำคัญที่พบมี 5 ชนิดได้แก่โกงกางใบเล็ก ลำแพน แสม ตะบูนขาว และฝาด นอกจากนี้มักพบเสม็ด ในบริเวณที่ติดกับป่าบกซึ่ง น้ำมีความเค็มค่อนข้างต่ำ

ป่าบกที่พบเป็นป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ ซึ่งจัดเป็นป่าดิบชื้น จำแนกได้ดังนี้

ป่าบกที่ขึ้นบนพื้นที่เขาหินปูน พบอยู่กระจัดกระจายทั่วไป มี 2 ประเภท ได้แก่ ป่าที่ ขึ้นอยู่บนบก พื้นที่ค่อนข้างราบ และบริเวณทีเรียกว่า Karst ซึ่งเป็นบริเวณหุบเขา ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ขี้หนอน เหรียง ตะเคียนหิน และชุมเห็ด สำหรับไม้พื้นล่าง จะขึ้นอยู่หนาแน่น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต่าร้าง เคย ลำเพ็ง นอกจากนี้ยังมี พวกหญ้า ปาล์ม และว่านชนิดต่างๆ อีกประเภทได้แก่ ป่าที่ขึ้นอยู่บนที่สูงค่อนข้างชื้น ของเขาหินปูน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีขนาดเล็ก ค่อนข้างเตี้ย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนหิน เขากวาง เป็นต้น

ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนพื้นที่เขาหินเชลล์ ควอทไซท์ พันธุ์ไม้ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ใน บริเวณที่ลุ่มตามเชิงเขาที่มีความชื้นค่อนข้างสูงจะพบไม้ยางนา ขึ้นอยู่กระจัดกระจาย และพบพันธุ์ไม้อื่นที่สำคัญได้แก่ มังตาล พังกา เฉียงพร้านางแอ เป็นต้น สำหรับไม้ พื้นล่างพบพวก ไผ่ป่า พังแหร หญ้า ฯลฯ

ป่าบกที่ขึ้นอยู่บนหินทราย พบบนพื้นที่ค่อนข้างลาดมีไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น ไม่ค่อยสูง นัก ไม้พื้นล่างไม่หนาแน่น อาจเป็นเพราะขาดความ อุดมสมบูรณ์ของดิน พันธุ์ไม้ที่ สำคัญได้แก่ สตอตั๊กแตน พังกา แค เป็นต้น สำหรับไม้พื้นล่างปรากฏอยู่น้อยมากส่วน ใหญ่เป็นจำพวกหญ้า

สังคมพืชน้ำ จำแนกได้เป็น สาหร่ายสีน้ำตาล สีแดง สีเขียว นอกจากนี้ยังมีพวกหญ้าทะเล แพลงก์ตอนพืชจำนวนมากมาย

สัตว์ป่า

จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากการสำรวจพบมากถึง 27 ชนิด ได้แก่ ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ ชะนีธรรมดา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ ที่สำคัญได้แก่ โลมาขาว โลมาหัวขวดมาลายู โลมาหัวบาตรหลังเรียบ

นก จากการสำรวจพบนกทั้งสิ้น 120 ชนิด ที่สำคัญได้แก่ นกยางเขียว นกยางทะเล นกยางเปีย เป็นต้น

สัตว์เลื้อยคลาน พบทั้งสิ้น 26 ชนิดได้แก่ เต่าหับ กิ้งก่าบินปีกสีส้ม งูสร้อยเหลือง เป็นต้น

สัตว์สะเทิ้นสะเทิ้นบก พบ 4 ชนิด ได้แก่ กบน้ำเค็มหรือกบน้ำกร่อย กบหนอง กบนาหรือ กบเนื้อ เขียดปาด เป็นต้น

ปลา ประกอบด้วย ปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาไหลทะเล ปลากระบอก ปลาปักเป้าทะเล ปลาที่อาศัยอยู่บริเวณแหล่งปะการังหลายชนิด เช่น ปลาในสกุลปลาผีเสื้อ ปลามีค่าทาง เศรษฐกิจหลายพันธุ์ เช่นปลาในสกุลปลาทู

สัตว์ประเภทอื่น ได้แก่ สัตว์ประเภทกุ้ง หอย ปู และสัตว์ชั้นต่ำประเภทไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกปะการังอีกหลายชนิด ได้แก่ ปะการังพุ่มไม้ ปะการังเขากวาง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search